ความสำคัญของการแจ้งย้ายที่อยู่
การแจ้งย้ายทะเบียนบ้าน หรือ การแจ้งย้ายที่อยู่ เจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้งย้ายที่อยู่ของบุคคลในบ้านเพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ ตรงตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการในทะเบียนบ้าน โดยต้องแจ้งย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีคนย้ายออก และต้องแจ้งย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีคนย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านนั้น การที่มีการกำหนดให้มีการแจ้งย้าย ก็เพื่อให้มีหลักฐานในทะเบียนบ้านมีความถูกต้อง อันมีผลในด้านต่างๆ มากมาย เช่น การที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใดก็หมายถึงมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่นั้น รวมถึงการใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ทางด้านสถิติข้อมูลประชากร เพื่อจะได้มีสถิติจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ที่ถูกต้อง นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการพัฒนาประเทศ หากมีบุคคลในบ้านมีการย้ายที่อยู่ ไม่ว่าจะย้ายออกไปหรือย้ายเข้ามา ถ้าเจ้าบ้านไม่ดำเนินการแจ้งย้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่บุคคลนั้นย้ายออกหรือย้ายเข้า จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
การแจ้งย้ายเข้า
การแจ้งย้ายเข้า เมื่อมีผู้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านใด กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่เป็นเจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้งการย้ายเข้าของบุคคลดังกล่าวต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน หากไม่แจ้งภายในกำหนดระยะเวลา มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งย้ายเข้า มีดังนี้
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของบ้านหลังที่จะย้ายเข้า
2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหลังที่จะย้ายเข้า
3. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้านกรณีที่ผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน
4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายกรณีได้รับมอบหมาย
5. ใบแจ้งย้ายที่อยู่ตอนที่ 1 และตอนที่ 2
เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานถูกต้องแล้วจึงจะเพิ่มชื่อลงในทะเบียนบ้านและในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน และจะมอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมหลักฐานการแจ้งคืนให้กับผู้แจ้ง
การแจ้งย้ายออก
เมื่อมีผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกไปจากบ้าน กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่เป็นเจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้งการย้ายออกของบุคคลดังกล่าวต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก หากไม่แจ้งภายในกำหนดระยะเวลามีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้ง มีดังนี้
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของบ้านหลังที่จะย้ายออก
2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหลังที่จะย้ายออก
3. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน
4. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ผู้ที่จะย้ายที่อยู่สามารถไปดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเองได้ โดยนำหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านไปแสดง เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานถูกต้องแล้ว จะลงรายการในใบแจ้งย้ายที่อยู่ และจำหน่ายรายการบุคคลที่ย้ายออกจากทะเบียนบ้าน โดยประทับคำว่าย้ายสีน้ำเงินไว้หน้ารายการคนย้ายออกและระบุรายละเอียดว่าย้ายไปที่ใด นายทะเบียนจะมอบหลักฐานการแจ้งคืนพร้อมทั้งใบแจ้งย้ายที่อยู่ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 เพื่อให้ผู้ย้ายนำไปแจ้งย้ายเข้าต่อไป
ใครสามารถแจ้งย้ายออกได้บ้าง
เมื่อมีผู้อยู่ในบ้านย้ายออกไปจากบ้านนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายจะต้องแจ้งย้ายออกของบุคคลดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก ผู้ที่สามารถดำเนินการแจ้งย้ายได้ มีดังนี้
1. เจ้าบ้าน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านที่จะต้องแจ้งเมื่อมีคนย้ายออกไปหรือย้ายเข้ามาในบ้านหลังนั้นๆ
2. ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน ซึ่งรายการในทะเบียนบ้านมิได้ระบุว่าเป็นเจ้าบ้านประสงค์จะทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านเพื่อดำเนินการแจ้งตามกฎหมายก็สามารถดำเนินการ โดยนายทะเบียนจะสอบถามสาเหตุหรือเหตุผลความจำเป็นและบันทึกไว้ พร้อมกับเรียกสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งซึ่งนายทะเบียนจะดำเนินการให้ตามที่แจ้งในฐานะที่เป็นเจ้าบ้าน
3. ผู้ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านประสงค์จะทำหน้าที่ในฐานะได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านสามารถดำเนินการได้โดยแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านในฐานะผู้ได้รับมอบหมาย โดยเจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งในฐานะผู้ได้รับมอบหมาย สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ได้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (ถ้ามี)
การแจ้งย้ายปลายทาง
การแจ้งย้ายปลายทางอัตโนมัติ การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง คือการแจ้งย้ายที่อยู่ที่ผู้แจ้งสามารถแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปแจ้งย้ายออก ณ สำนักทะเบียนเดิมที่บุคคลดังกล่าวมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน การแจ้งย้ายปลายทางอัตโนมัติ เป็นบริการที่รวดเร็วและสะดวกกว่าเดิมมาก คือจะดำเนินการย้ายชื่อของบุคคลที่จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมมาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านที่จะย้ายเข้าใหม่ได้ภายใน 15 นาที เอกสารหลักฐานที่ผู้แจ้งย้ายที่อยู่ต้องนำไปดำเนินการ มีดังนี้
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของบ้านหลังที่จะย้ายเข้า
2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่จะแจ้งย้ายปลายทาง
3. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหลังที่จะย้ายเข้า
4. หนังสือยินยอมให้ย้ายเข้าของเจ้าบ้านหลังที่จะย้ายเข้า กรณีที่เจ้าบ้านไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้
5. ค่าธรรมเนียมการย้ายที่อยู่ปลายทางอัตโนมัติฉบับละ 10 บาท
กรณีเจ้าบ้านไม่ยอมแจ้งย้ายให้หรือไม่มีทะเบียนบ้านใช้แจ้งย้าย
ผู้อยู่ในบ้านเมื่อประสงค์จะย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน แต่เจ้าบ้านไม่ยอมไปดำเนินการแจ้งย้ายให้ หรือไม่ยอมมอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านให้ไปแจ้งย้ายออก หรือไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านเนื่องจากสูญหาย สามารถแก้ไขปัญหาโดยดำเนินการได้ดังนี้
1. กรณีเจ้าบ้านไม่ยอมไปดำเนินการแจ้งย้าย โดยมีเจตนาไม่ให้ผู้แจ้งย้ายที่อยู่ย้ายชื่อออกไปหรือเก็บสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านไว้ไม่ยอมให้นำไปแจ้งย้ายออก เจ้าบ้านย่อมมีความผิดตามกฎหมาย ให้แจ้งต่อนายทะเบียนให้ดำเนินการเรียกเจ้าบ้านมาปฏิบัติตามกฎหมาย และถ้าเจ้าบ้านยังไม่มาดำเนินการต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
2. กรณีสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านสูญหาย ให้เจ้าบ้านยื่นคำร้องขอให้นายทะเบียนจัดทำสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านขึ้นใหม่แทนฉบับที่สูญหายและนำไปดำเนินการแจ้งย้ายออกต่อไป
3. กรณีสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านไม่อยู่เนื่องจากบุคคลในบ้านนำไปใช้ที่อื่นและผู้แจ้งย้ายไม่อาจรอได้ ให้ผู้แจ้งย้ายที่อยู่ไปดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง ณ สำนักทะเบียนที่จะย้ายเข้าได้ โดยไม่ต้องรอดำเนินการแจ้งย้ายออกจากที่เดิม โดยเสียค่าธรรมเนียมการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางอัตโนมัติฉบับละ 10 บาท
กรณีแจ้งย้ายออกแล้วเปลี่ยนใจ
เมื่อมีการแจ้งย้ายที่อยู่ออกไปจากบ้านใดแล้ว แต่ผู้ย้ายที่อยู่เกิดเปลี่ยนใจ ผู้ย้ายที่อยู่สามารถดำเนินการให้ถูกต้องได้ดังนี้
1. กรณีเปลี่ยนใจไม่ประสงค์จะย้ายเข้าตามที่ได้ระบุไว้ในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ผู้ย้ายที่อยู่สามารถมอบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ให้เจ้าบ้านไปแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ผู้ย้ายที่อยู่เข้าไปอยู่จริงโดยไม่ต้องกลับไปแก้ไขยังสำนักทะเบียนที่ออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ในการนี้นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ผู้แจ้งย้ายเข้าไปอยู่ใหม่จะดำเนินการแก้ไขรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ให้ตรงตามความเป็นจริงและรับแจ้งย้ายเข้าต่อไป
2. กรณีเปลี่ยนใจไม่ประสงค์จะย้ายออกไป โดยต้องการมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ที่เดิม ผู้แจ้งการย้ายที่อยู่สามารถให้เจ้าบ้านนำใบแจ้งย้ายที่อยู่ที่ยังไม่ได้ไปแจ้งย้ายเข้าที่ใดพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านไปแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ออกใบแจ้งย้าย นายทะเบียนจะเรียกใบแจ้งการย้ายที่อยู่คืนและตรวจสอบความถูกต้องของใบแจ้งย้ายที่อยู่ และแก้ไขรายการในใบแจ้งย้ายว่า ย้ายกลับที่เดิม และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่เดิมให้ต่อไป
ซื้อบ้านหลังใหม่จะต้องแจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านและเป็นเจ้าบ้าน
การซื้อบ้านหลังใหม่ เมื่อเจ้าบ้านเข้าไปอาศัยในบ้านแล้วจะต้องดำเนินการแจ้งย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย การแจ้งย้ายทะเบียนบ้าน ในกรณีเป็นบ้านจัดสรรตามหมู่บ้านต่างๆ เมื่อก่อสร้างเสร็จเจ้าของหมู่บ้านจะแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่บ้านนั้นตั้งอยู่เพื่อให้นายทะเบียนกำหนดบ้านเลขที่และจัดทำทะเบียนบ้านไว้ให้ ดังนั้นเมื่อจะดำเนินการแจ้งย้ายเข้า ให้เจ้าบ้านที่จะย้ายไปดำเนินการแจ้งย้ายออกต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่มีชื่ออยู่เดิม แล้วจึงมาติดต่อแจ้งย้ายเข้าต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่บ้านนั้นตั้งอยู่ เอกสารที่ใช้ในการติดต่อ มีดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของบ้านหลังใหม่
3. สัญญาซื้อขายหรือโฉนดที่ดินของบ้านหลังใหม่
4. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ซึ่งสำนักทะเบียนที่ผู้ย้ายมีชื่อออกให้ ทั้งนี้ให้แจ้งต่อนายทะเบียนว่าประสงค์จะเป็นเจ้าบ้านหลังใหม่ด้วย นายทะเบียนเมื่อตรวจสอบหลักฐานถูกต้องแล้วจะดำเนินการแจ้งย้ายเข้าและเพิ่มชื่อผู้ย้ายเข้าในทะเบียนบ้านในฐานะเจ้าบ้านต่อไป การดำเนินการแจ้งย้ายเข้านี้จะต้องดำเนินการแจ้งย้ายเข้าภายใน 15 วันนับแต่วันที่ย้ายเข้าอยู่ในบ้านหลังใหม่
ข้อมูลจาก http://bora.dopa.go.th
ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay