ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มจัดเก็บปี 2563 ใครต้องเสียภาษีบ้าง ต้องเสียเท่าไหร่ เสียยังไง
พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ประกาศออกมาแล้วมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มมีการจัดเก็บภาษีจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมาเพื่อแก้ปัญหาภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จัดเก็บอยู่เดิมโดย
ภาษีบำรุงท้องที่ สภาพปัญหาคือ
- ราคาปานกลางไม่มีการปรับมาเป็นเวลานาน
- อัตราภาษีถดถอย
- มีการยกเว้นลดหย่อนจำนวนมาก
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน สภาพปัญหาคือ
- ฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้
- อัตราภาษีสูง
- เปิดให้ใช้ดุลยพินิจในการประเมินค่อนข้างสูง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศบังคับใช้ใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- เพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัย เป็นสากลเช่นเดียวกับนานาประเทศและแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษีเดิม
- กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
- เพิ่มความเป็นอิสระและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
- สร้างความเข้มแข็งและโปร่งใสในการบริหารการคลังของ อปท.
- ช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญในระยะยาว
ฐานภาษี
คิดจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ผู้เสียภาษี คือ
- เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
- เจ้าของห้องชุด
- ผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง)
ผู้จัดเก็บภาษี คือ
- เทศบาล
- องค์การบริหารส่วนตำบล
- กรุงเทพมหานคร
- เมืองพัทยา
แนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จะยึดตามหลักการ ไม่กระทบผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง มีการจัดแบ่งประเภทของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็นที่ใช้ประโยชน์และไม่ใช้ประโยชน์
ประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์
1. ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม
เป็นการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อการบริโภค หรือจำหน่ายเพื่อบริโภค หรือใช้งานในฟาร์ม โดยแบ่งออกเป็นทำเกษตรกรรมเต็มพื้นที่ และทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่เสียภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ โดยพิจารณาตามสภาพข้อเท็จจริง พิจารณาจากพื้นที่ที่ใช้ทำเกษตรกรรม และพิจารณารวมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อเนื่องที่ใช้สำหรับเกษตรกรรม
2. ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย
- บ้านหลังหลัก คือ เจ้าของบ้านมีชื่อในโฉนด+ทะเบียนบ้าน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน/เจ้าของคนใดคนหนึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้าน)
- บ้านหลังอื่นๆ เจ้าของบ้านมีชื่อในโฉนดแต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
3. ใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ
คือใช้เพื่อประโยชน์ด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ
ประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ใช้ประโยชน์
- ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ทิ้งที่ดินไว้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ในปีก่อนหน้า ยกเว้น มีกฎหมายห้ามหรือให้ทิ้งไว้เพื่อการเกษตรหรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ
มาตรการการดูแลผลกระทบจากการจัดเก็บภาษี
1. ยกเว้นทรัพย์สินที่ได้รับจากการยกเว้นภาษี (ใน พ.ร.บ.)
- ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้หาประโยชน์ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ (รัฐ/เอกชน)
- สหประชาชาติ สถานทูต
- ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด หมู่บ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรม
- บ้านพักอาศัยหลัก 1 หลัง ส่วนของมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาทในกรณีที่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน และส่วนของมูลค่าที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะบ้าน
- ที่ดินเกษตรกรรมของบุคคลธรรมดา ไม่ต้องเสียภาษีใน 3 ปีแรก ปีที่ 4 เป็นต้นไป ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละ อปท. รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาทเป็นการถาวร
2. ลดหย่อน การบรรเทาภาระภาษี (ออกเป็น พ.ร.ฎ.)
- ลดภาระภาษีให้ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 90% เช่น บ้านพักอาศัยซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับมรดกก่อนที่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ และกิจการสาธารณะ เช่น โรงเรียน เป็นต้น
- ลดอัตราภาษี เช่น ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อทำโครงการพักอาศัยและนิคมอุตสาหกรรม (3 ปีตั้งแต่ยื่นขออนุญาต) และทรัพย์สินที่เป็น NPA ของสถาบันการเงิน (5 ปี)
3. ผ่อนปรน
ทยอยปรับภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 25% 50% และ 75% ในช่วง 3 ปีแรก
4. การลดหรือยกเว้น (อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น)
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด หรือ รมว.มหาดไทย ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ ทรัพย์สินเสียหายหรือถูกทำลายเฉพาะราย
ที่มาของข้อมูล http://www.fpo.go.th