ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง วิธีการและขั้นตอนเมื่อต้องการย้ายเข้าบ้านใหม่


ขั้นตอนการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางเมื่อต้องการย้ายเข้าบ้านใหม่

ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง วิธีการที่หลายคนที่มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ใหม่ไปอยู่ภูมิลำเนาอื่น หรือบางคนอาจจะซื้อบ้าน หรือคอนโดไว้แล้ว แต่ตัวเองมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอื่น แล้วต้องการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านใหม่ จะต้องกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของเราเพื่อดำเนินเรื่องหรือไม่ โดยปัจจุบันเราสามารถแจ้ง ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง หรือแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางได้แล้ว โดยสามารถไปแจ้งย้ายได้ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอท้องถิ่นที่บ้านหรือคอนโดเราตั้งอยู่ได้เลยโดยไม่ต้องกลับไปภูมิลำเนาเดิมของเรา ซึ่งขั้นตอนการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางมีคำแนะนำดังนี้

การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง หมายถึง ผู้ที่ย้ายที่อยู่ไปแจ้งย้ายออกและย้ายเข้า ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ได้ย้ายไปอยู่ใหม่ โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปขอแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมในภูมิลำเนาเดิมที่เราอยู่

การแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ใช้เอกสารในการติดต่อดังนี้

1.บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้แจ้งย้ายพร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด
2.ทะเบียนบ้านเล่มที่จะแจ้งย้ายเข้าฉบับจริง
3.เจ้าบ้านหลังที่จะแจ้งย้ายเข้าให้ความยินยอมย้ายเข้าพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและสำเนา 1 ชุด
4.หากเจ้าบ้านไม่ได้มาดำเนินการจะต้องมีหนังสือยินยอมให้แจ้งย้ายเข้าของเจ้าบ้านมาแสดงด้วย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านลงชื่อรับรองสำเนา 1 ชุด
5.หากเป็นบ้านหรือคอนโดใหม่ของเราเอง ต้องมีเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเช่นสำเนาโฉนดที่ดิน หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนังสือแสดงการครอบครองบ้าน เอกสารสัญญาซื้อขาย เป็นต้น


6.กรณีมอบหมายให้แจ้งย้ายแทน ต้องมีหนังสือมอบหมายจากผู้ย้ายที่อยู่พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบ และผู้รับมอบหนึ่งคนควรดำเนินการแทนผู้ประสงค์จะแจ้งย้ายที่อยู่ได้ไม่เกิน 3 คน
7.กรณีผู้เยาว์ย้ายที่อยู่ มารดาเป็นผู้ดำเนินการแจ้งย้าย ต้องใช้เอกสารสูติบัตรฉบับจริงพร้อมสำเนา 1 ชุด หากมีทะเบียนหย่าต้องมีการระบุว่ามารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรฉบับจริงพร้อมสำเนา 1 ชุด
8.กรณีผู้เยาว์ย้ายที่อยู่ บิดาเป็นผู้ดำเนินการแจ้งย้าย ต้องใช้เอกสารสูติบัตรของบุตรฉบับจริงพร้อมสำเนา 1 ชุด และต้องมีทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตร หรือทะเบียนหย่าที่ระบุว่าบิดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรฉบับจริงพร้อมสำเนา 1 ชุดมาแสดง

เมื่อเตรียมเอกสารทั้งหมดพร้อมแล้วก็ไปสำนักงานเขตหรือสำนักทะเบียนอำเภอที่เราจะย้ายไปอยู่ได้เลย ใช้เวลาดำเนินการไม่ถึง 10 นาทีก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะได้ทะเบียนบ้านที่มีชื่อเราอยู่ในนั้น

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นเนื่องจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ใช้ระบบออนไลน์กันหมดแล้ว หากใครที่ย้ายบ้านใหม่แล้วยังไม่ได้ดำเนินการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านใหม่ก็สามารถไปดำเนินการแจ้งย้ายปลายทางได้เลยโดยไม่ต้องกลับไปแจ้งย้ายที่ภูมิลำเนาเดิมของเราอีกแล้ว


หมายเหตุ

  • กรณีผู้ย้ายเข้าเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าบ้าน เจ้าบ้านจะต้องเซ็นต์ชื่อยินยอม
  • กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้ปกครองจะต้องเซ็นต์ชื่อยินยอม
  • กรณีแจ้งย้ายเข้าหลังย้ายออก ต้องแนบหลักฐานการย้ายออกจากบ้านหลังเดิมมาด้วย

ข้อมูล http://www.bora.dopa.go.th