การรถไฟเผย รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ก.ย.นี้ งานสัญญา 1 มีความก้าวหน้า 94.74% สัญญา 2 เสร็จแล้ว 100% ช่วยพัฒนาระบบการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรางสู่ภาคตะวันออก และอีอีซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม มอบหมายนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางราง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 8 ปี พ.ศ.2558-2565
ปัจจุบัน การรถไฟสามารถขับเคลื่อนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ให้เกิดการก่อสร้างได้แล้วหลายเส้นทาง โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สู่ภาคตะวันออก เชื่อมต่อไปยังโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างเป็นไปได้ด้วยดี และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง ภายในกรอบเวลาที่กำหนดเดือนกันยายน 2562 นี้
โดยมีรายละเอียดความก้าวหน้าในการก่อสร้าง ดังนี้
สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย งบประมาณการก่อสร้าง 9,825 ล้านบาท ระยะทางก่อสร้างทาง 97 กิโลเมตร พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ชุมทางแก่งคอย และชุมทางบ้านภาชี ขณะนี้มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างไปแล้ว 94.74% และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ งบประมาณการก่อสร้าง 407 ล้านบาท ระยะทางรวม 9 กิโลเมตร ซึ่งมีการก่อสร้างอุโมงค์และทางลอดใต้เขาพระพุทธฉาย 1.2 กิโลเมตร ขณะนี้ก่อสร้างได้เสร็จแล้ว 100%
นายวรวุฒิกล่าวว่า เมื่อ รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย เสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ และเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางราง เช่น น้ำมัน ก๊าซแอลพีจี ปูนซีเมนต์ สินค้าบรรจุคอนเทนเนอร์ ระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและท่าเรือแหลมฉบังกับพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างประหยัดต้นทุน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาสู่ระบบราง และลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ข่าวและภาพประกอบจาก ประชาชาติธุรกิจ